เตือนผู้มีบ้าน-ที่ดิน-รัฐ “ดีเดย์ 1 ม.ค.63” เริ่มเก็บภาษีที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง
ประชาชนทั่วประเทศโปรดฟัง ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 จะมีผลบังคับใช้และเริ่มการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2563 เจ้าของที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างจะต้องส่งเอกสารแสดงการครอบครองให้เจ้าหน้าที่เขตหรืออำเภอเพื่อการประเมินภาษีที่ถูกต้อง ส่วนที่ดินเพื่อการเกษตร รัฐยกเว้นให้ 3 ปีแรก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ.2562 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่ วันที่ 13 มี.ค.2562 จะเริ่มจัดเก็บรายได้เข้ารัฐตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2563 เป็นต้นไป โดย 3 ปีแรกของการบังคับใช้ จะยกเว้นภาษีแก่ที่ดินบุคคลทั่วไปที่ใช้เพื่อเกษตรกรรม
สำหรับกฎหมายฉบับนี้มีขึ้นเพื่อทดแทนกฎหมายภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ.2475 และภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ.2508 ที่ใช้มายาวนานกว่า 80 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยภาษีที่ดินฉบับใหม่นี้ ให้อำนาจ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เป็นผู้จัดเก็บภาษีตามที่คณะกรรมการภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้างประจำจังหวัดกำหนด
ส่วนฐานภาษีที่จะถูกจัดเก็บจะคิดจากมูลค่าทั้งหมดของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง โดยการคำนวณจากมูลค่าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง ส่วนผู้มีหน้าที่เสียภาษี คือเจ้าของที่ดิน/สิ่งปลูกสร้าง เจ้าของห้องชุด ผู้ที่ครอบครองทรัพย์สิน หรือทำประโยชน์ในทรัพย์สินของรัฐ
ทั้งนี้ ภาครัฐจะดำเนินการส่งหนังสือเรียกให้เจ้าของที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง ต้องส่งเอกสารให้รัฐบาล โดยสำนักงานเขตที่ทรัพย์ตั้งอยู่จะเป็นคนส่งหนังสือช่วงประมาณเดือน ก.ย.-พ.ย.2562 ให้แก่เจ้าของทรัพย์สินประเภทที่ดินเปล่า สิ่งปลูกสร้าง คอนโด บ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม บ้านแฝด อพาร์ตเมนต์ โดยการให้ส่งเอกสารกลับไป มีจุดประสงค์เพื่อสำรวจ ยืนยันความเป็นเจ้าของ และการใช้ประโยชน์ เพื่อนำไปประเมินภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง
สำหรับเอกสารที่สำนักงานเขตขอ เช่น โฉนดที่ดิน เอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ ห้องชุด สัญญาเช่า (ถ้ามี) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากไม่ส่งเอกสารตามที่สำนักงานเขตขอจะถือว่า มีความผิดโดนปรับไม่เกิน 2,000 บาท
ส่วนอัตราภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง (ปี 2563-2564) ที่จะถูกจัดเก็บภาษีแบ่งเป็น 3 ประเภท คือประเภทที่ 1.ที่ดินเพื่อที่อยู่อาศัย คิดราคาประเมิน 0-50 ล้านบาท เสียภาษี 0.02% ต่อปี หรือ ล้านละ 200 บาท, ราคาประเมิน 50-75 ล้านบาท เสียภาษี 0.03% ต่อปี หรือ ล้านละ 200 บาท, ราคาประเมิน 75-100 ล้านบาท เสียภาษี 0.05% ต่อปี หรือ ล้านละ 500 บาท และราคาประเมิน 100 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษี 0.1% ต่อปี หรือ ล้านละ 1,000 บาท
ทั้งนี้ หากเป็นบ้านหลักและเป็นทั้งเจ้าของบ้านและที่ดิน จะยกเว้นภาษี 50 ล้านบาทแรก แต่ถ้าเป็นบ้านหลักแต่เป็นเจ้าของเฉพาะตัวบ้านอย่างเดียวจะได้รับยกเว้นภาษี 10 ล้านบาทแรก
ประเภทที่ 2 ที่ดินรกร้างว่างเปล่าจะเริ่มเสียภาษี 0.3% ของราคาประเมิน หรือ ล้านละ 3,000 บาทต่อปีของราคาประเมิน โดยจะเพิ่มอัตราจัดเก็บ 0.3% ทุก 3 ปี เพดานการจัดเก็บไม่เกิน 3% ส่วนราคาประเมินบ้าน และที่ดิน 1 ล้านบาท หากปล่อยร้าง 30 ปี จะเสียภาษีอย่างต่ำ495,000 บาท
สำหรับประเภทที่ 3 ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ ราคาประเมิน 0-50 ล้านบาท เสียภาษี 0.3% ต่อปี หรือ ล้านละ 3,000 บาท ราคาประเมิน 50-200 ล้านบาท เสียภาษี 0.4%ต่อปี หรือ ล้านละ 4,000 บาท ราคาประเมิน 200-1,000 ล้านบาท เสียภาษี 0.5% ต่อปีหรือ ล้านละ 5,000 บาท ราคาประเมิน 1,000-5,000 ล้านบาท เสียภาษี 0.6% ต่อปี หรือ ล้านละ 6,000 บาท ส่วนราคาประเมิน 5,000 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษี 0.7% ต่อปีหรือ ล้านละ 7,000 บาท ซึ่งในจำนวนนี้ราคาประเมิน 1 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี จะเสียภาษีรวม 90,000 บาท.
ชอบคุณข้อมูล ไทยรัฐ